โรงเรียนธนาคาร
ในปีพุทธศักราช 2550 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมายุครบ 80 พรรษา โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายประถมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) ได้น้อมรับโครงการพระราชดำริหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยการร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดทำกิจกรรม “เยาวชนไทย ใฝ่การออม” เพื่อส่งเสริมแนวคิดการออมในวัยเด็กและเพื่อฝึกการออมแก่นักเรียนตลอดระยะเวลาในการศึกษาอยู่ในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายประถมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) โดยโรงเรียนได้ประสานงานกับ ธ.ก.ส. สาขาตลาดกลางสินค้าเกษตรขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ให้จัดเจ้าหน้าที่จาก ธ.ก.ส. มารับเงินฝากของนักเรียนเป็นประจำทุกเดือน ณ ห้องที่ทางโรงเรียนได้จัดให้เป็น “ธนาคารจำลอง” และได้มีพิธีเปิดกิจกรรม ณ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัย ขอนแก่น ฝ่ายประถมศึกษา ( ศึกษาศาสตร์ ) ในวันที่ 10 มกราคม 2550 นักเรียนได้ฝากเงินกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารด้วยตนเองทุกสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนช่วงเปิดเทอม มีบัญชีเงินฝากของนักเรียนที่อยู่ในกิจกรรมจำนวน 864 บัญชี และทำการฝากเงินในกิจกรรมนี้จำนวน 43 ครั้ง เป็นเงินทั้งสิ้น 7,200,864 บาท (เจ็ดล้านสองแสนแปดร้อยหกสิบสี่บาทถ้วน)
ต่อมา ธ.ก.ส. สาขาตลาดกลางสินค้าเกษตรขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นได้ปรับรูปแบบเป็นโรงเรียนธนาคาร ได้ทำพิธีเปิดโรงเรียนธนาคารสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายประถมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) ในวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2556 โดยมีพนักงานธนาคารเป็นนักเรียนของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายประถมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) ภายใต้การดูแลของอาจารย์ในฐานะคณะกรรมการที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่ของ ธ.ก.ส. สาขาตลาดกลางสินค้าเกษตรขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในฐานะพี่เลี้ยงของกิจกรรม เปิดดำเนินการรับเงินฝากของนักเรียนทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี เวลา 12.15–12.45 น.
พุทธศักราช 2556 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศระดับฝ่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
พุทธศักราช 2557 ได้รับรางวัลชนะเลิศ “ระดับประเทศ” ประเภทประถมศึกษา การประกวดโรงเรียนธนาคารดีเด่น ประจำปี 2557
พุทธศักราช 2558 ได้รับรางวัลเกียรติยศ “นักการเงินวัยเยาว์ ประจำปี 2558”
การดำเนินกิจกรรมรับเงินฝากของนักเรียน โดยมีมีพนักงานธนาคารเป็นนักเรียนของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายประถมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) ได้ลดบทบาทลง เนื่องจากนักเรียนระดับชั้นประถมปลายมีคาบเรียนสุดท้ายในภาคเช้า เวลา 12.10 น. จึงไม่สามารถทำหน้าที่เป็นพนักงานโรงเรียนธนาคารได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาโรงเรียนธนาคารได้ดำเนินการรับฝากเงินในยูนิทของตนเองแทน โดยจะรับฝากเงินทุกวันพุธของสัปดาห์และให้เจ้าหน้าที่ของ ธ.ก.ส. สาขาตลาดกลางสินค้าเกษตรขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น มารับเงินฝากที่ห้องธนาคาร พ.ศ. 2561 มีเงินฝากทั้งสิ้น 11,956,267.68 บาท (สิบเอ็ดล้านเก้าแสนห้าหมื่นหกพันสองร้อยหกสิบเจ็ดบาทหกสิบแปดสตางค์)
ปัจจุบันพบว่า โรงเรียนสาธิตมาหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายประถมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) มีจำนวนนักเรียนและบุคลากรเข้าร่วมกิจกรรมโรงเรียนธนาคารจำนวนมาก เมื่อนักเรียนยูนิทเอฟ (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6) จบการศึกษา ระดับประถมศึกษา ทางโรงเรียนธนาคารจะให้นักเรียนปิดบัญชี ทำให้เงินในบัญชีของโรงเรียนธนาคารออกไปจากระบบ โดยในปีการศึกษา 2561 นักเรียนยูนิทเอฟปิดบัญชี ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นยอดเงินทั้งสิ้น 3,065,490.61 (สามล้านหกหมื่นห้าพันสี่ร้อยเก้าสิบบาทหกสิบเอ็ดสตางค์) ดังนั้นเพื่อให้เกิดความสะดวกคล่องตัว นักเรียนไม่จำเป็นต้องปิดบัญชีเมื่อจบการศึกษาระดับประถมศึกษาและเงินยังคงอยู่ในระบบธนาคาร และลดขั้นตอนการดำเนินงานของกรรมการโรงเรียนธนาคาร ธ.ก.ส. สาขาตลาดกลางสินค้าเกษตรขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ การดำเนินงานเป็น A – School โดยเริ่มต้นปีการศึกษา 2562
3. การดำเนินกิจกรรมของโรงเรียนธนาคารสาธิตมาหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายประถมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) ในรูปแบบ A – School ร่วมกับ ธ.ก.ส. สาขาตลาดกลางสินค้าเกษตรขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
3.1 ธ.ก.ส. สาขาตลาดกลางสินค้าเกษตรขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ประชุมชี้แจงข้อตกลงการฝากเงินในโครงการ A - School
3.1.1 ธนาคารจะให้นักเรียนตามโครงการเปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์กับธนาคารโดยตรง ในโครงการ A - School แทนบัญชีเงินฝากตามโครงการเดิม
3.1.2 นำยอดเงินฝากที่มีอยู่เดิมเข้าฝากในบัญชีเงินฝากตามข้อ 1 แล้วส่งคืนสมุดคู่ฝากเงิน เพื่อให้นักเรียนและครูตรวจสอบความถูกต้อง
3.1.3 การรับฝากครั้งต่อ ๆ ไป อาจารย์ประจำยูนิทและนักเรียนทำการรวบรวมเงินฝากจากนักเรียน พร้อมบันทึกจำนวนเงินฝากในเอกสารที่ธนาคารจัดทำขึ้น
3.1.4 พนักงานธนาคารจะออกรับเงินฝากตามรายละเอียดที่อาจารย์ประจำยูนิทรวบรวมไว้ ทุกวันพุธ (โดยธนาคารจะทำการปรับสมุดเงินฝากให้เดือนละ 1 ครั้ง)
3.1.5 ธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากให้นักเรียนผู้ฝากเงินแต่ละบัญชีในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ตามประกาศของธนาคาร (อัตราดอกเบี้ย 0.5 % ต่อปี) ปีละ 2 ครั้งในเดือน กันยายน และ มีนาคม ของทุกปี
3.1.6 การถอนเงินฝากของนักเรียนตามโครงการ จะต้องได้รับการอนุญาตจากอาจารย์ประจำยูนิทหรือจากผู้รับผิดชอบโครงการนี้ของโรงเรียนธนาคารสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายประถมศึกษา(ศึกษาศาสตร์)
3.1.7 เมื่อนักเรียนจบการศึกษา นักเรียนสามารถฝาก-ถอนเงินได้ทุกสาขา ยกเว้น กรณีปิดบัญชีเงินฝาก ต้องมาดำเนินการ ณ สาขาตลาดกลางสินค้าเกษตรขอนแก่น เท่านั้น
3.2 จำนวนสมาชิกของโรงเรียนธนาคาร
3.2.1 นักเรียนที่เป็นสมาชิกของโรงเรียนธนาคาร จำนวน 852 คน คิดเป็นร้อยละ100 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่นฝ่ายประถมศึกษา(ศึกษาศาสตร์)
3.2.2 บุคลากรเป็นสมาชิกของโรงเรียนธนาคาร จำนวน 46 คน
3.3 แผนกิจกรรมการดำเนินงานของโรงเรียนสาธิตมาหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายประถมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) ในปี พ.ศ. 2562 ดังนี้
3.3.1 โปรโมชั่นปีใหม่ 2562 นักเรียนจะได้รับของที่ระลึกจากโรงเรียนธนาคาร ตามเกณฑ์ดังนี้
- ฝากตั้งแต่ 20 บาท ขึ้นไป ได้รับเครื่องเขียน เช่น ไม้บรรทัด, ยางลบ ทุกคน
- ฝากตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ได้รับกระปุกออมเงินทุกคน
3.3.2 รางวัลยูนิทนักออมภาคต้น ปีการศึกษา 2562
โรงเรียนธนาคารสาธิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายประถมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) จะแจกทุนแก่ยูนิทนักออมในช่วงภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 ตามเกณฑ์ คือ นักเรียนแต่ละยูนิทจะต้องฝากเงินตั้งแต่ร้อยละ 80 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด ยูนิทจึงจะได้รับทุนเดือนละ 200 บาท โดยในแต่ละยูนิทจะได้จัดสรรเงินซื้อรางวัลเข้ายูนิท
3.3.3 รางวัลนักออมเงินรุ่นเยาว์
โรงเรียนธนาคารสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายประถมศึกษา (ศึกษาศาสตร์)มอบเกียรติบัตรให้กับนักเรียนที่ฝากเงินทุกครั้งที่เปิดรับฝากเงิน ดังนี้จำนวนนักเรียนที่ได้รับเกียรติบัตรนักออมเงินรุ่นเยาว์ภาคต้น ปีการศึกษา 2562
3.3.4 รางวัลนักออมเงินยอดเยี่ยม
โรงเรียนธนาคารสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายประถมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) มอบเกียรติบัตรให้กับนักเรียนที่ฝากเงินทุกครั้งที่เปิดรับฝากเงินตลอดปีการศึกษา
3.3.5 มอบทุนการศึกษา ทุนละ 1,000 บาท ให้กับนักออมเงินยอดเยี่ยม
โรงเรียนธนาคารสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายประถมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) มอบทุนการศึกษาทุนละ 1,000 บาท ให้แก่ นักออมเงินยอดเยี่ยม โดยการจับสลากรายชื่อนักออมเงินยอดเยี่ยมของแต่ละยูนิท
3.3.6 การจัดกิจกรรมตลาดนัดในสวน
กิจกรรมตลาดนัดในสวน จัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนนำผลผลิต หรือ ผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นเองมาจัดจำหน่ายเป็นรายได้ เพื่อการออม โดยนำเงินรายได้ที่หักจากทุนแล้วมาฝากเงินในโครงการโรงเรียนธนาคาร
3.3.7 ออมเพื่อพ่อ 2562
โรงเรียนธนาคารสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายประถมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) จะจัดกิจกรรมออมเพื่อพ่อ 2562 ในวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2562 โดยนักเรียนและคุณพ่อร่วมกันฝากเงินจะได้รับของที่ระลึกจากโรงเรียนธนาคาร ตามเกณฑ์ดังนี้
- ฝากตั้งแต่ 20 บาท ขึ้นไป ได้รับเครื่องเขียน เช่น ไม้บรรทัด, ยางลบ ทุกคน
- ฝากตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ได้รับกระปุกออมเงิน
3.4 กิจกรรมการฝากเงินของ Satit Kku. Smart A-School
3.4.1 เปิดการรับฝากเงินของนักเรียนในวันอังคารหรือวันพุธ โดยยึดตามข้อตกลงของอาจารย์ประจำยูนิทกับนักเรียน
3.4.2 อาจารย์ประจำยูนิทจะบันทึกจำนวนเงินของนักเรียนในวันที่ฝากลงในเอกสารที่ ธ.ก.ส.สาขาตลาดกลางสินค้าเกษตรขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จัดเตรียมให้
3.4.3 อาจารย์ประจำยูนิทและนักเรียนจะทำการตรวจสอบเงินสดและจำนวนเงินที่บันทึกในเอกสารให้ตรงกัน
3.4.4 ในแต่ละยูนิทจะมาส่งเงินที่ยูนิทB1 และบันทึกการส่งเงินประจำวัน
3.4.5 เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. สาขาตลาดกลางสินค้าเกษตรขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จะมารับเงินและตรวจสอบความถูกต้องในวันพุธของทุกสัปดาห์
3.4.6 เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. สาขาตลาดกลางสินค้าเกษตรขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จัดส่งเอกสารการรับเงินที่ได้บันทึกลงหมายเลขบัญชีของสมาชิกทุกคน ให้อาจารย์ผู้ทำหน้าที่ดูแลโรงเรียนธนาคารลงนามและอาจารย์ผู้ดูแลโรงเรียนธนาคารเตรียมเอกสารการบันทึกเงินลงในกล่องแต่ละยูนิทเพื่อใช้ในสัปดาห์ต่อไป
3.4.7 อาจารย์ประจำยูนิทรับกล่องเงินของตน
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายประถมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) ได้ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการออมเงินอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 12 ปี และได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียน จนปัจจุบันได้ปรับรูปแบบโรงเรียนธนาคารเป็นแบบ A-School โดยมียอดเงินฝากรวม10,036,274.33 บาท (สิบล้านสามหมื่นหกพันสองร้อยเจ้คสิบสี่บาทสามสิบสามสตางค์) ณ วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2562
ผลสัมฤทธิ์ : งานเห็นผล คนเป็นสุข
1. นักเรียนเข้าใจและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการน้อมรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
2. ร้อยละ 70 ของนักเรียนมีบัญชีออมทรัพย์เพื่อการออมเงิน
3. นักเรียนมีบัญชีออมทรัพย์และฝากเงินออมสม่ำเสมอ
4. โรงเรียนได้ร่วมมือกับชุมชน
ความภาคภูมิใจ
1. นักเรียนมีส่วนร่วมในการออมเพื่อช่วยชาติ
2. โรงเรียนได้น้อมรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้ในการจัดประสบการณ์ให้กับนักเรียน
3. โรงเรียนส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนเป็นผู้รู้จักทางสายกลาง นั่นคือการพอประมาณ การมีเหตุผลและมีภูมิคุ้มกัน